ฟันน้องหมา ดูแลอย่างไรให้แข็งแรง

ฟันน้องหมา ดูแลอย่างไรให้แข็งแรง

เทคนิคดูแล “ฟันน้องหมา” ให้สะอาดและแข็งแรงอยู่เสมอ ๆ

สุนัข เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมที่ใครหลายคนต้องมีเป็นเจ้าของ นอกจากความแสนรู้ของมันแล้ว ยังช่วยทำให้ชีวิตในแต่ละวันไม่น่าเบื่ออีกด้วย ด้วยบุคลิกแสนซนอันแข็งแรงของน้องนั้นทำให้เจ้าของต้องใส่ใจน้องๆ เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากสุขภาพร่างกายแล้ว สุขภาพปากและฟันของสุนัขเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธี อาจส่งผลถึงกลิ่นปากและปัญหาตามมากอีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มพบในสุนัขอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ตามนี้

สัตว์เลี้ยง

  1. ลมหายใจมีกลิ่นหรือเปล่า?

หากลมหายใจของน้องหมาเริ่มมีกลิ่นเหม็น แล้วกินอาหารได้น้อยลงกว่าปกติ เริ่มมีอาการอาเจียนและทานน้ำมากขึ้น หรือฉี่บ่อยครั้ง เป็นสัญญาเริ่มต้นที่ควรรีบไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพของน้องอย่างเร่งด่วน

  1. ช่องปากปกติหรือเปล่า?

ลองเปิดช่องปากของน้องเช็คความผิดปกติของเหงือกและฟันอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หากมีสีคล้ำ ซีดขาวหรือแดงเกินไป หรือเริ่มมีอาการบวมให้เห็น หรือมีคราบฟันและหินปูนเกาะอยู่ ก็สามารถพาน้องไปพบสัตวแพทย์ได้เลย

  1. อาการที่ผิดปกติ?

หากน้องหมาของเรามีอาหารที่พบตุ่มหรือก้อนเนื้อหที่เหงือก หรือมีตุ่มใสปรากฎที่เหงือก หรือมีอาการเหงือกอักเสบ น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา หรือเหงือกร่นจนฟันหลุด ถึงเวลาที่ต้องพบสัตวแพทย์แล้วล่ะ

การแปรงฟัน

ทางแก้ปัญหาเบื้องต้นนอกเหนือจากที่จะให้น้องสุนัขรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมบำรุงกระดูกและฟันแล้ว หรือการได้ทานขนมที่มีการกัดแทะ หรือการเล่นของเล่นที่มีการขบเคี้ยว ก็จะช่วยทำให้สุขภาพฟันและช่องปากแข็งแรง แต่ต้องอย่าลืมที่จะแปรงฟันให้กับน้องด้วยนะ

วิธีการแปรงฟันนั้น ในระยะแรกไม่จำเป็นต้องใช้แปรงสีฟัน แต่ใช้นิ้วนวดบริเวณเหงือกและฟันของน้อง เพื่อให้เกิดความเคยชินและผ่อนคลายต่อการจับบังคับในการแปรงฟันครั้งต่อๆ ไป โดยใช้เวลานวดประมาณ 1 นาทีต่อครั้ง วันละ 1-2 ครั้ง และทำติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนใช้แปรงสีฟัน

เมื่อน้องสุนัขเริ่มชินกับการนวดของเราแล้ว ลองใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัขไปพร้อมกับการนวดด้วยเพื่อให้เกิดความเคยชินกับการใช้ยาสีฟันรวมทั้งรสชาติที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านไป 1-2 สัปดาห์แล้วจึงค่อยๆ เริ่มการใช้แปรงสีฟันสำหรับสุนัขในการแปรงฟันน้องๆ โดยพยายามแปรงด้วยความระมัดระวังและอ่อนโยนด้วยนะ

ข้อควรระวังคือ หากแปรงฟังให้น้องหมา ต้องใช้แปรงที่ทำขึ้นเพื่อสุนัขเท่านั้น เนื่องจากออกแบบให้เป็นไปตามลักษณะของสุนัขและช่องปากมากกว่าแปรงฟันของคน

อาหารและขนม

อาหารและขนมนั้นถือว่าเป็นการส่งผลโดยตรงกับสุขภาพร่างกาย รวมไปทั้งเหงือกและฟันอีกด้วย โดยอาหารที่แนะนำควรเป็นอาหารเม็ดที่ช่วยในการขัดฟันและลดปัญหากลิ่นปากได้ ส่วนอาหารที่ปรุงสุกหรืออาหารเปียกนั้นไม่แนะนำให้ทานบ่อย เพราะเนื้อสัมผัสที่อ่อนโยนจะไม่สามารถขัดฟันและอาจเกาะติดจนเป็นคราบหินปูนได้

ส่วนขนมนั้น ควรเลือกขนมที่มีลักษณะรูปทรงที่เหมาะกับการกัด ขบ เคี้ยวของน้องสุนัข เช่น รูปทรงตัวเอ็กซ์ ที่ช่วยให้น้องหมาของเราเพลิดเพลินและยังได้ขัดฟันด้วย เป็นการทำความสะอสดไปในตัวรวมทั้งทำให้เหงือกมีสุขภาพที่ดี โดยควรให้เพียงวันละ 1 แท่ง หากให้มากกว่านี้อาจเกิดผลเสียแต่สุขภาพเนื่องจากได้รับสารอาหารที่มากเกินไปนั่นเอง

ตรวจสุขภาพ

นอกเหนือจากอาการที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว ถึงแม้จะยังไม่แสดงอาการออกมา แต่อยากให้เจ้าของน้องหมาทุกท่านไม่ละเลยในการพาน้องๆ ไปพบสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทั้งช่องปากและร่างกาย หากพบเจอจะได้ทำการแก้ไขและรักษาได้ทันที

แนะนำข่าวสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม : แมวเหมียวเครียดง่ายกว่าที่คิด

แมวเหมียวเครียดง่ายกว่าที่คิด

ชีวิตแมวนั่นดูจะแสนสบายกินแล้วก็นอนงานก็ไม่ต้องทำแต่รู้หรือไม่แมวก็มีเรื่องให้เครียดอยู่เหมือนกัน

เพื่อให้ผู้เลี้ยงแมวเข้าใจและดูแลแมวได้ดีขึ้นจึงขออธิบายภาวะเครียดในน้องแมวให้ฟังความเครียด ทำให้มีผลเสียกับร่างกาย แล้วแมวเครียดอะไรกัน ความเครียดของแมว เกิดเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันขึ้น การเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าสัตว์อื่นๆ ที่ไม่เคยพบ รวมทั้งสถานการณ์ที่เป็นอันตราย หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ซ้ำซาก ซึ่งร่างกายจะกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดขึ้น ซึ่งจะเร่งอัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน รวมทั้งน้ำตาลในเลือด  ก็เพื่อให้เจ้าเหมียวมีร่างกายที่พร้อมที่จะต่อสู้นั่นเอง ซึ่งความเครียดในช่วงสั้นๆ ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าต้องเครียดในระยะยาว การกระตุ้นร่างกายก็จะยาวนานไปด้วย ย่อมเกิดผลเสียกับร่างกายของแมวแน่นอน

สาเหตุที่ทำให้แมวเครียด  สถานการณ์อีกหลายอย่างที่คนนึกไม่ถึงว่านั่น เป็นสาเหตุที่ทำให้แมวเครียดได้ ยกตัวอย่างเช่น

1. ความเบื่อ เมื่อทุกวันมันช่างซ้ำซากเกินไป

2. กังวลเรื่องอาณาเขตตัวเอง และต้องคอยทะเลาะกับสัตว์อื่นในบ้าน

3. เจอเสียงดัง เช่น เสียงจากฟ้าผ่า, พลุ, เสียงปืน, เสียงเพลงดังๆ หรือการมีปาร์ตี้

4. การถูกปล่อยให้อยู่บ้านลำพังโดยไม่มีคนหรือสัตว์ที่คุ้นเคยที่รู้สึกว่าเป็นครอบครัว

5. การเปลี่ยนตารางเวลาในวิถีประจำวัน หรือสิ่งแวดล้อมภายในบ้านเปลี่ยนไป เช่นการปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

6. ถูกตัดเล็บ หรือไม่มีที่ลับเล็บ

7. การมีสมาชิกใหม่ หรือมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาในครอบครัว

8. มีปัญหาเรื่องการมีน้ำและอาหารไม่เพียงพอ เช่น มีแมวมากกว่า 1 ตัว แต่มีถาดน้ำและอาหารแค่อันเดียวทำให้เกิดการใช้ร่วมกัน จะทำให้เกิดความเครียดในตัวแมวขึ้น โดยปกติจะต้องมี ถาดน้ำ ถาดอาหาร กระบะทราย มากกว่าจำนวมแมว 1 อัน เช่นมีแมว 5 ตัวก็ควรมี ถาดน้ำ ถาดอาหาร กระบะทราย  6 อันและวางกระจายไปให้ทั่ว ๆ

9. มีปัญหาเรื่องปรสิตรบกวน เช่น หมัด ไรในหู ก็ทำให้แมวเกิดความเครียด

10. การย้ายที่ หรือต้องเดินทางไปไหน เช่น ต้องนั่งรถ การไปหาหมอ การไปอาบน้ำ ไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ เป็นต้น

จะเห็นว่าเรื่องเรื่องง่าย ๆ ที่เราคิดไม่ถึงก็ทำให้น้องแมวเกิดความเครียดขึ้นแล้ว

พฤติกรรมที่แสดงว่าแมวเครียด

แมวจะแสดงออกให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป  การอยู่ไม่สุข ร้องเสียงดัง มีอาการสั่น ทำเสียงขู่ แมวบางตัวจะไปหาที่ซ่อนตัว หรือแสดงออกแบบผิดธรรมชาติของแมว เช่น การเลียทำความสะอาดตัวเองมากเกินไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำในสัตว์ ที่เบื่อจนเกินไปหรือเครียดจนเกินไป เลียจนทำให้ขนร่วงเยอะและผิวหนังมีปัญหาอักเสบติดเชื้อ ตามมา การเคี้ยวปากจนน้ำลายยืด หรือทำลายข้าวของ ข่วนเฟอร์นิเจอร์ รองเท้า หมอน ผนัง ประตู หรือสิ่งของอื่นๆ  การฉี่ไม่เป็นที่ หรือฉี่นอกกระบะทราย ไม่กินอาหาร ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการแสดงออกของแมวที่กำลังเครียดอยู่ ซึ่งถ้าปล่อยให้แมวเครียดหนักๆ นาน ๆ  อาจทำให้แมวป่วยตามมา

วิธีการดูแลรักษาแมวเครียด

เราสามารถช่วยบรรเทาความเครียดของแมวได้ ยิ่งถ้าเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้แมวเครียด ก็พยายามเลี่ยงการให้แมวอยู่กับสิ่งนั้นให้มาก แต่ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นอาจลองใช้เทคนิคเหล่านี้ดู

1. พูดกับแมวด้วยเสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน จะช่วยให้แมวเครียดน้อยลง แมวจะรับรู้ได้เร็วมากถึงอารมณ์ของเราและโทนของเสียง

2. นวดและลูบแมวเบาๆ ในห้องเงียบๆ วิธีนี้จะช่วยลดความเครียดให้ทั้งแมวและตัวเราเอง ซึ่งเราควรหาเวลาทำแบบนี้กับแมวบ่อยๆ

3. เล่นกับแมวด้วยของเล่นที่แมวชอบ การเล่นกับแมวช่วยแมวหายเครียดได้และยังเป็นการออกกำลังและผ่อนคลายทั้งแมวและคน

4. การใช้เครื่องหอมธรรมชาติ เช่นกัญชาแมว  ก็ช่วยผ่อนคลายเจ้าเหมียวได้

5. ให้ขนมแมวที่ชอบกับน้องแมว ก็เป็นการผ่อนคลายความเครียดได้อย่างดี

6. การเตรียมที่ให้แมวได้ลับเล็บ ปีน และที่นั่งมองนก ซึ่งดีต่อกล้ามเนื้อ และการให้แมวได้ลับเล็บตามใจ แมวจะมีความสุข

7. แมวบางตัวอาจต้องใช้ยาเพื่อลดความเครียด ซึ่งควรให้หมอแนะนำ ไม่ควรให้ยากินกับแมวโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะแมวรับรู้ไว้มากต่อยาทุกอย่าง ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเป็นอันตราย

บทความโดย : นายสัตวแพทย์สมประสงค์  ชัยวิรัตน์ (คลินิคระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์เมืองเอก)