5 โรคฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กเล็ก และวิธีป้องกันที่ควรรู้

5 โรคฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กเล็ก และวิธีป้องกันที่ควรรู้

เด็ก

ถ้าพูดถึงโรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก แน่นอนว่ามีหลากหลายโรค ซึ่งแต่ละโรคก็ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลอย่างมาก แต่สำหรับโรคต่างๆ ที่ถือว่าเป็นโรคสุดฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กเล็กและเป็นโรคที่พ่อแม่ควรรู้ถึงวิธีการป้องกันมี 5 โรคดังนี้

1.ไข้หวัด
โรคไข้หวัด โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และเชื้อไวรัสก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นโรคที่เด็กเล็กสามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี สำหรับอาการไข้หวัดนั้นจะคัดจมูก น้ำมูกใส คอแห้ง จามบ่อย เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดหัว ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ และเป็นไข้ ในส่วนของการป้องกันโรคไข้หวัดคือ พ่อแม่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีคนหนาแน่น และไม่ควรใกล้ชิดกับผู้ป่วย

2.ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีทั้งสายพันธุ์ A และ สายพันธุ์ B และเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย ติดต่อได้ผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม และละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย สำหรับอาการของไข้หวัดใหญ่จะมีไข้ ปวดหัว หนาวสั่น ปวดตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ คลื่นไส้ อาเจียน และตาแดง ในส่วนของวิธีการป้องกัน จะต้องพยายามให้ลูกหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรล้างมือบ่อยๆ และควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป

3.ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเองกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ และเป็นเชื้อที่สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการของโรคไข้เลือดออกนั้น ผู้ป่วยจะมีไข้สูงหลายวัน ปวดหัว ปัสสาวะน้อย มีอาการซึม เป็นหวัด ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการคลื่นไส้ และมีผื่นขึ้น ในส่วนของวิธีการป้องกัน พ่อแม่จะต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด ทั้งนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการกางมุ้งให้ลูกนอน และควรทำลายแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง

4.มือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Enterovirus และ Coxsackievirus เป็นเชื้อที่สามารถติดต่อกันง่ายผ่านการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วย อาการของมือเท้าปากนั้น ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอ มีแผลในปาก ลิ้น เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม มีผื่นบนฝ่ามือและฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นที่ก้นด้วย ในส่วนของวิธีการป้องกัน จะต้องให้เด็กๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารที่ปรุงสุกและปรุงใหม่ๆ อาหารสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม และควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ

5.อีสุกอีใส
อีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดกันได้ง่ายมาก ผ่านการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสและทางการจาม อาการของอีสุกอีใสจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว กินข้าวน้อยลง มีตุ่มแดงขึ้นตามตัว แขน ขา และหน้า หลังจากนั้นตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสขอบแดง เมื่อใกล้หายแล้วจะเปลี่ยนเป็นตุ่มขาวๆ ตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดออกไป จนเหลือแค่รอยแผลดำๆ ในส่วนของวิธีการป้องกัน จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงและไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป

นอกจาก 5 โรคที่กล่าวไปข้างต้นจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคฮิตที่เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กบ่อยด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ โรคหัด ไข้อีดำอีแดง หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV และท้องเสียจากเชื้อไวรัส ซึ่งโรคทั้งหลายนี้พ่อแม่ควรรู้วิธีป้องกันที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ลูกต้องเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้ได้ง่ายนั่นเอง

แนะนำข่าวเด็ก อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ

โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ

โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ

สำหรับช่วงวัยทารกขวบปีแรก หรือ วัย 0-1 ปีแรกของลูกนั้น การได้รับโภชนาการที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม มีส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรใส่ใจและดูแลเรื่องโภชนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ การเสริมอาหารของลูกในแต่ละวัยมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ในวันนี้เราจะมาแนะนำอาหารที่เหมาะสมกับลูกตั้งแต่แรกเกิด (0 เดือน) จนถึง 1 ขวบปีกัน

สารอาหารที่สำคัญสำหรับวัยทารก 0-1 ปี

พลังงานและโปรตีน : แหล่งอาหารที่ดีที่สุดในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนคือนมแม่ หลังจากนั้นควรเพิ่มเติมเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่นเนื้อหมู เนื้อไก่ และปลา เป็นต้น

ธาตุเหล็ก :  แหล่งของธาตุเหล็กที่สำคัญได้แก่ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น ดังนั้น หลังอายุ 6 เดือน ทารกที่ทานแต่นมจึงเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก

ไอโอดีน :  ช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยในการพัฒนาสมอง และการเจริญเติบโตของร่างกาย  ควร ใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร

แคลเซียม :  จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน พบได้มากในนม

สังกะสี : มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของทารก ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย พบได้มากในเนื้อสัตว์

วิตามินเอ : เสริมสร้างเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยในการมองเห็น แหล่งอาหารที่สำคัญได้แก่ตับ   ไข่แดง  ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเหลืองแสด

เด็ก

อาหารและโภชนาการที่เหมาะสมแก่ลูกวัย 0-1 ปี

  • วัยแรกเกิด (0 เดือน) – 6เดือน อาหารที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับลูกในวัยนี้คือนมแม่ เพราะธรรมชาติได้จัดสรรให้นมแม่นั้นมีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ลูกเติบโตได้ดี มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ทั้งร่างกายและสมอง ที่สำคัญในนมแม่นั้นยังมีสารอาหารสำคัญที่มีชื่อว่า สฟิงโกไมอีลิน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้าง ไมอีลิน ปลอกหุ้มแขนงประสาทนำออก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาท ทำให้สมองของลูกสามารถส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • 7 เดือน ในวัยนี้แนะนำให้กินนมแม่และเสริมด้วยอาหาร 1 มื้อ เช่นข้าวบดละเอียดกับน้ำแกงจืด เพิ่ม เนื้อปลา และเนื้อสัตว์บด ผักหั่น และผลไม้
  • 8-9 เดือน กินนมแม่และเสริมด้วยอาหาร 2 มื้อ ชนิดของอาหารไม่ต่างจากช่วงวัย 7 เดือนนัก แต่ให้เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น และทำให้เนื้อของอาหารบดนั้นข้น หนืดขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกได้ฝึกการกลืน
  • 10-12 เดือน ให้ลูกกินนมแม่และเสริมด้วยอาหาร 3 มื้อ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นกว่าเดือนก่อน ๆ และแนะนำให้ลูกได้กินอาหารที่หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเนื้อสัมผัสของอาหารควรหยาบและเพิ่มเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  • 1 ปี ให้ลูกได้กินอาหาร 3 มื้อ และเสริมด้วยนมอีก 3 มื้อ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเหมือนกับผู้ใหญ่ แนะนำให้อาหารปรุงสุกอ่อนนุ่ม เป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้เคี้ยวได้ ในวัยนี้ลูกจะเริ่มใช้ช้อนตักเองได้แต่อาจจะยังหกหรือเลอะเทอะอยู่ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ช่วยตัวเองในการหัดตักอาหารและให้ลูกได้ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ใหญ่บ่อย ๆ เพื่อฝึกวินัยและมารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดี